แนวโน้ม กับ การทำธุรกิจ..

คนทำธุรกิจสิ่งที่ควรพิจารณาคือทิศทางในการดำเนินธุรกิจของเรา เทียบกับโอกาสในตลาด และความพร้อมของธุรกิจเรา.. สามารถแบ่งทิศทางการทำธุรกิจได้เป็น 3 แบบด้วยกันคือ..

รูปภาพของ Wiritthipol Panyapornputimet

1. Trend Follower – ทำธุรกิจแบบตามเทรนด์ เป็นรูปแบบที่นิยมทำกันมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจมือใหม่ที่มีขนาดเล็กถึงปานกลาง..

ข้อดี.. ไม่ต้องวิเคราะห์ตลาดหรือคาดเดาตัวธุรกิจ/สินค้ามากนัก อาศัยเกาะติดและตัดสินใจให้เร็วหน่อย ใช้กระแสความนิยมของเทรนด์นั้น สร้างยอดขาย ความเสี่ยงในการขายไม่มากนัก ยกเว้นแต่ว่าเราเข้าตลาดนั้น ช้าเกิน หรือผู้เข้าตลาดสามารถทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก หรือ เทรนด์นั้น เป็นกระแสระยะสั้นๆ

ข้อเสีย.. ไม่ค่อยมีความแตกต่างของธุรกิจ/สินค้า กับคู่แข่งมากนัก และด้วยความเป็นมือใหม่ และศักยภาพไม่มาก ก็อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขัน เพื่อยืนหยัดในตลาดอาจทำได้ไม่ง่ายนัก.. โดยเฉพาะมือใหม่ ที่ขาดประสบการณ์และการวางแผนกลยุทธ์ที่เหมาะสม..

2. Trend Leader – ทำธุรกิจแบบนำเทรนด์ เป็นรูปแบบที่พอมีคนทำบ้างประปราย โดยเฉพาะธุรกิจที่ผ่านประสบการณ์มาพอสมควรแล้ว และมีแบบแผน และแผนงานที่เป็นเชิงกลยุทธ์มากขึ้น โดยมีมุมมองในเรื่องการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ (Competitive Advantage) เพื่อสร้างคุณค่าในระดับสินค้า (Product Value) ที่มากกว่าคู่แข่งในท้องตลาด

ข้อดี.. สินค้าและการสื่อสารการตลาดสามารถสร้างความแตกต่างระหว่างสินค้าเรา และสินค้าคู่แข่ง ทำให้มีโอกาสจับตลาดผู้บริโภคบางกลุ่มหรือหลายกลุ่มได้ดี การทำธุรกิจแบบนำเทรนด์นี้ เหมาะกับตลาดผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมในการลองสินค้าใหม่ๆ ต้องการความทันสมัย หรือประโยชน์ในการใช้งานสินค้าที่มากกว่าที่เคยใช้อยู่..

ข้อเสีย.. การทำธุรกิจแบบนำเทรนด์ จะมีความเสี่ยงทางธุรกิจที่สูงกว่าแบบแรก เพราะเราต้องการเข้าตลาดก่อน หรือเสนอคุณค่าสินค้าในแง่มุมที่แตกต่างจากสินค้าคล้ายๆ กันในท้องตลาด ทำให้ต้นทุนทางธุรกิจ จะสูงกว่าการทำธุรกิจแบบตามเทรนด์ และส่ิงที่แตกต่างนั้นอาจไม่โดนใจผู้บริโภคก็เป็นได้..

3. Trend Setter – ทำธุรกิจแบบสร้างเทรนด์ เป็นรูปแบบที่น้อยคนนักจะทำ โดยเฉพาะพวกนักธุรกิจมือใหม่ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะขาดประสบการณ์ เงินลงทุน ความพร้อมอื่นๆ การทำธุรกิจแนวนี้ ต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้า วิจัย พัฒนา และความเข้าใจในแนวโน้มของตลาดอย่างลึกซึ้ง ประกอบกันในการพัฒนาสินค้า และวางแผลกลยุทธ์เพื่อนำเสนอเทรนดใหม่ผ่าน สินค้า/บริการของเรา..

ข้อดี.. หากทำออกมาได้ดีโดนใจตลาดผู้บริโภค อำนาจในการแข่งขันจะทำให้เราสามารถสร้างยอดขาย และผลกำไรได้อย่างก้าวกระโดด และมหาศาล อีกทั้งยังช่วยในเรื่องการสร้างคุณค่าในระดับแบรนด์ Brand Value ที่จะทำให้การออกสินค้าต่อไปทำได้ง่ายขึ้น และการเติบโตทางธุรกิจเป็นไปได้ด้วยดี และมีความแปรปรวนน้อย เนื่องด้วยความโดดเด่นของสินค้าและแบรนด์ ทำให้คู่แข่งต่อกรได้ลำบากและเราสามารถควบคุมตลาดเฉพาะส่วน โดยเฉพาะตลาดระดับบน (Premium & Superpremium) ได้เป็นอย่างดี

ข้อเสีย.. สิ้นเปลืองทรัพยากรและเวลาเยอะ ทำให้กระบวนการเตรียมตัว และพัฒนาความพร้อม ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า เพื่อให้การนำเสนอสินค้า/บริการผ่านเทรนด์ใหม่ที่ต้องการสร้างประสบความสำเร็จ

สรุปโดยรวม จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 รูปแบบล้วนมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป คงตอบไม่ได้ว่า รูปแบบใดดีกว่ากัน หรือรูปแบบใดเป็นสูตรสำเร็จในการทำธุรกิจของเรา คงต้องดูองค์ประกอบอย่างอื่น อาทิ.. ความพร้อมทีมงาน, ความพร้อมเรื่องเงินลงทุน, ความพร้อมเรื่องประสบการณ์ทางธุรกิจ และระดับความเข้าใจตลาดผู้บริโภคของเรา กอปรกลับ ตลาดลูกค้าเป้าหมายที่เราสนใจว่า ในแง่พฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ ความชอบ กำลังซื้อ ของตลาดเป้าหมายของเราเป็นอย่างไร เช่น ถ้าเจาะกลุ่มตลาดระดับล่าง รูปแบบการทำธุรกิจแบบสร้างเทรนด์อาจไม่เหมาะ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจ และในทางกลับกัน หากเราเจาะตลาดระดับบน รูปแบบการทำธุรกิจแบบตามเทรนด์ ก็ดูจะไม่น่าสนใจในการนำเสนอสินค้าให้น่าสนใจ และกระตุ้นจูงใจให้ตลาดระดับบนนั้น หันมาลองสินค้าของเราได้อย่างง่ายๆ

เลือกทิศทางการทำธุรกิจที่เหมาะสมและสอดคล้องกับตลาดผู้บริโภค ย่อมเป็นการเพิ่มโอกาสความสำเร็จของเราให้มากขึ้น.. แบบที่คนทั่วไปพูดกันว่า.. เริ่มต้นดี มีชัย ไปกว่าครึ่ง.. ไงครับ

 

 

 

— วิริทธิพล —

ใส่ความเห็น